18 ธันวาคม 2552

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

อ.จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือการจัดการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนด้านการเรียนรู้ การจัดการ และการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังกำหนดชัดเจนว่า การบูรณาการคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนา ความรับผิดชอบ การทำงานกลุ่ม ความเสียสละ จะทำด้วยวิธีการใด สอดแทรกหรือบูรณาการในแผนการสอนได้อย่างไร
ผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกวิชาเป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากเพื่อจากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วีดีทัศน์ อินเตอร์เน็ต สภาพจำลอง กรณีศึกษา สถานการณ์จริงหรือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยหลักการนี้ ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์มากกว่าการเรียนจากการฟังการ “บรรยาย” ของอาจารย์อย่างเดียว เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

แผนภูมิการเรียนรู้ของผู้เรียน
10 tell
20 show
70 do
I hear, I forget
I see, I remember
I do, I understand

การพยายามหาวิธีการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน จึงต้องอาศัยการวางแผนที่รัดกุม การที่คิดว่าสอนเองจะเร็วกว่าการให้ผู้เรียนพยายามเรียนจากวิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การนั่งฟังอาจารย์สอนเป็นการเสียเวลา และทำให้สอนไม่ทันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ดังนั้นเวลาที่ใช้ไปในแต่ละคาบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนจะต้องวางแผนใช้อย่างคุ้มค่า มีความหมาย

ตัวอย่างของการใช้เวลาไม่คุ้มค่า เช่น การเช็คชื่อโดยขานชื่อทีละคน ผู้สอนจะต้องคิดวิธีการที่ย่นเวลาการเช็คชื่อ เช่น เช็คชื่อเป็นกลุ่ม ให้หัวหน้าเช็คชื่อให้ ให้ส่งงานช่วง 5 นาทีท้ายชั่วโมง หรือใช้วิธี อื่น ๆ ที่จะประหยัดเวลาได้
การให้งาน แทนที่จะเสียเวลาอธิบาย 50 นาที ให้พิมพ์ขั้นตอนการทำงานมาเลย ใครไม่เข้าใจไปอธิบายกันนอกห้อง
การวางแผ่นใส รอให้นักศึกษาจดทีละแผ่น ผู้สอนควรพิมพ์รายละเอียดแจกท้ายชั่วโมง แทนที่จะรอให้นักศึกษาจด
การรายงาน แทนที่จะให้นักศึกษา 10 กลุ่ม รายงานทีละกลุ่ม หัวข้อเรื่องเดียวกัน ให้แบ่งหัวข้อแตกต่างกัน เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
การติดยึดกับการบรรยาย เกรงนักศึกษาจะไม่รู้เรื่องทั้ง ๆ ที่เรื่องที่บรรยาย มีหัวข้อเหมือนกับเอกสารคำสอนทุกประการ

สรุปการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องมีการวางแผน กำหนดจุดประสงค์ สาระ เวลา วิธีการที่ชัดเจน ว่าจะให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ ความคิด ศักยภาพ ในช่วงใด เวลาใดที่การสอนต้องมีการกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้จากแหล่งการเรียนหลากหลาย มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับผู้เรียน โดยผู้สอนจะต้องเป็นผู้จัดการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยวิธีการ และสื่อต่าง ๆ เปิดโอกาสให้พูด อภิปราย ถกเถียง หาข้อสรุป เรียบเรียง และประมวลความรู้ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี สื่อสารกับผู้อื่นได้ ปรับตัวได้ในสังคมที่แตกต่างกัน

สรุปการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยสรุปมีหลักการดังนี้
1. ผู้เรียนต้องเรียนอย่างกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ด้วยตนเองมากกว่าการนั่งฟังอาจารย์สอน
2. ผู้เรียนควรมีโอกาสเรียนรู้จากแหล่งหลากหลาย เช่น จากสภาพจริง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น จากวีดิทัศน์ โทรทัศน์ บริษัท เพื่อน
3. อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้บอกวิชา (บรรยาย) เป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
4. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา
5. ส่งเสริมการคิดที่ลึกซึ้ง
6. ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
7. อาจารย์ไม่จำเป็นต้องให้รายงานทุกกลุ่ม แต่ให้ส่งงานกลุ่มมาเพื่อเช็คชื่อ อาจารย์ไม่ควรสอนซ้ำกับที่นักศึกษาได้รายงานไปแล้ว ควรเพิ่มเติมประเด็นที่ขาดไป
8. การออกคำสั่งให้ทำงานกลุ่มแต่ละครั้ง มีคำสั่งให้ชัดเจน ใช้เวลาเท่าใด พิจารณาอะไร ตอบอย่างไร ส่งงานอย่างไร รายงานอย่างไร คำสั่งอาจารย์ควรเตรียมใส่แผ่นใส หรือพิมพ์แจก ทำให้ไม่เสียเวลากับการอธิบายคำสั่ง
9. ติดตามการเรียนของผู้เรียน ใครขาดเรียนบ่อย ๆ ใครที่พื้นฐานอ่อน คะแนนสอบย่อยดีขึ้นหรือไม่การเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วนำมาเรียบเรียงเป็นรายงาน ถือเป็นงานวิจัยในชั้นเรียน

การวางแผนการสอน

อ.จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

วงจรการเรียนการสอน
วงจรการเรียนการสอน (OLE) คือ ผู้สอนต้องมองเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างความมุ่งหมายของการสอน (Objective) กระบวนการเรียนการสอน (Learning – teaching process) และการประเมินผล (Evaluation)
ผู้สอนควรมองภาพวงจรนี้ให้สัมพันธ์ใกล้ชิด กล่าวคือ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอนอย่างชัดเจนว่า สอนใคร สอนทำไม สอนอะไร จุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยคืออะไร ของคณะคืออะไร ภาควิชาคืออะไร วิชาที่สอนคืออะไรบ้าง หลังจากที่กำหนดจุดมุ่งหมายหลักผู้สอนก็จะคิดวางแผนเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนว่ามีขั้นตอนอย่างไร มีลักษณะอย่างไร ควรใช้วิธีการสอนแบบใด สอนเมื่อใด สอนอย่างไร ใช้สื่ออะไร
เมื่อคิดวิธีการสอน กิจกรรมในการสอน และเอกสารประกอบการสอน จะต้องมีเครื่องมือมาช่วยประเมินเพื่อให้ผู้สอนได้เข้ามากขึ้นว่า แบบฝึกช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนมากน้อยเพียงใด ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนหรือไม่ อาจารย์พูดอยู่คนเดียวทั้งชั่วโมงหรือเปล่า อาจารย์ควรประเมินตนเอง และประเมินนักศึกษาทุกครั้งเมื่อสอนเสร็จ
ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์ การเรียนการสอน และการประเมินผล ย่อมทำให้ผู้สอนได้ติดตามอยู่ตลอดเวลาว่า การสอนของอาจารย์ได้ผลหรือไม่ ดังนั้นทั้งสามปัจจัยนี้จึงเป็นหลักของการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจหลักการเดียวกันนี้ ผู้สอนจึงควรทำประมวลการสอนโดยสังเขป ก่อนที่อาจารย์จะทำประมวลการสอนรายวิชาใด อาจารย์ควรรู้จักเอกสารหลักสูตร โครงสร้างการศึกษา หลักสูตรสาขาวิชาบังคับกี่หน่วยกิต เรียนวิชาอะไรบ้าง ลักษณะวิชาเป็นอย่างไร
หัวข้อสำหรับการจัดทำประมวลสังเขปรายวิชา ควรมีดังนี้คือ
1. รหัสวิชา และชื่อวิชา
2. สังกัดของรายวิชา และสถานภาพของวิชา
3. ชื่ออาจารย์ผู้สอน
4. คำอธิบายรายวิชา
5. กำหนดการเปิดเรียน
6. ให้ระบุวัตถุประสงค์ของวิชา

เมื่อเขียนการสอนรายสัปดาห์ อาจารย์อาจจะระบุจุดประสงค์ของการสอนเชิงพฤติกรรมแต่ละคาบอีกก็จะทำให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
1. อธิบายความ
2. ระบุความ
3. อภิปราย
4. แสดงตัวอย่าง
สิ่งสำคัญในการกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมก็คือ ต้องมีความสัมพันธ์ ระหว่างจุดประสงค์ วิธีการเรียนรู้ของนักศึกษา และการประเมินผล
7. สาระการสอน อาจารย์จะจำแนกสาระจากคำอธิบายรายวิชาออกมาเป็นหัวข้อ ยกตัวอย่างเช่น วิชา 301 302 หลักการตลาด มีสาระการสอนดังนี้
1. ความหมายของการตลาด
2. ความสำคัญของการตลาดต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ
3. ตลาดและส่วนของการตลาด
4. สินค้าและชนิดของสินค้า
5. หน้าที่ของการตลาด
6. สถาบันการตลาด
7. ของทางการจำหน่ายและคนกลาง
8. วิธีดำเนินงานของผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก
9. สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการตลาด
สำหรับการสอนอาจารย์อาจจะกำหนดวันเวลา หรือครั้งที่สอนไว้พร้อมกำหนด ตำรากับหนังสือที่ควรอ่านว่า หัวข้อนี้อ่านหนังสืออะไร เริ่มจากหน้าใดถึงหน้าใด จะทำให้ผู้เรียนติดตามการสอนของอาจารย์ได้มากขึ้น
8. กิจกรรมการสอน และวิธีการสอน
9. อุปกรณ์การสอน
10. การประเมินผล
11. ตำราเรียนหลัก อาจารย์สอนใช้ตำราเล่มใดเป็นตำราหลัก และเล่มใดเป็นหนังสืออ่านประกอบ กรณีที่ยังไม่มีตำราหลัก อาจารย์ควรพยายามเรียบเรียงและประมวลเป็นเอกสารประกอบการสอน
นอกจากประมวลการสอนโดยสังเขป เพื่อแจกให้นักศึกษาทราบในวันแรกของชั้นเรียนแล้วอาจารย์ควรทำแผนการสอนของอาจารย์ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ๆ ไป เพื่อให้ทราบว่า อาจารย์จะสอนเนื้อหาสาระใด เท่าที่สอบถามนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท พบว่าผู้เรียนมีความพอใดที่ทราบสาระของการเรียน วิธีการเรียน การวัดผล และตำราที่ควรอ่าน ตั้งแต่ชั่วโมงแรก มากกว่าที่จะเข้ามานั่งเรียนโดยไม่ทราบทิศทางอะไรเลย

การวางแผนการสอนรายคาบ
อาจารย์ควรเตรียมแผนการสอนรายสัปดาห์ โดยมีแนวทางดังนี้
1. วางวัตถุประสงค์ของการสอนให้ชัดเจน คำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก ควรเรียนรู้หลากหลายนอกเหนือจากสาระตามหลักสูตร บางส่วนของชั่วโมงอาจเป็นการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ ทำแบบฝึกหัด ปฏิบัติ อภิปรายกลุ่ม ค้นคว้าในห้องสมุด ศึกษาจากสถานประกอบการ
2. คัดสรรสาระการสอน วางลำดับหัวข้อ ให้น้ำหนักของหัวข้อย่อยว่าแต่ละข้อมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันหรือไม่
3. เลือกวิธีการสอนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หัวข้อที่เป็นหลักการอาจารย์ใช้วิธีการสอนแบบบรรยาย แต่การทดสอบว่าผู้เรียนเข้าใจสาระที่สอนไปหรือไม่อาจจะใช้วิธีการอภิปรายให้ผู้เรียนขยายความหรือวิเคราะห์กรณี
4. การเลือกสื่ออาจารย์อาจให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนโดยช่วยหาสื่อ เช่น ภาพยนตร์ รูปภาพ เพลง วีดิทัศน์ ของจริง
5. การประเมินทำได้หลายวิธี การตอบคำถามสั้น ๆ การสังเกต การตรวจสมุดจดของผู้เรียน การทำรายงาน ผลงาน แบบฝึก การให้เขียนสรุป การปฏิบัติ
6. เขียนแผนการสอน และกำหนดเวลาที่สอนแต่ละหัวข้อให้ชัดเจน

ผู้สอนอาจจะกำหนดรูปแบบของแผนการสอนแต่ละคาบขึ้นเองตามความสะดวก แต่ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสอน สาระการสอน กิจกรรมการสอน สื่อการสอน และการประเมินผลทุกครั้ง การกำหนดสาระให้ละเอียดจะทำให้ผู้สอนแม่นในสาระที่สอน และนำไปพัฒนาเป็นเอกสารประกอบการสอนเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบกับนักศึกษาเป็นครั้งแรกในวิชาที่สอน
อาจารย์ควรพยายามให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกว่าอาจารย์มีสัมพันธภาพที่ดีต่อนักศึกษา โดยเฉพาะถ้าเป็นชั้นเรียนขนาดไม่เกิน 50 คน ควรได้มีการแนะนำตัว เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเองเกิดขึ้นบ้าง
วันแรกของชั้นเรียน ควรจะปฏิบัติดังนี้
1. แจกประมวลการสอนรายวิชา
2. อธิบายลักษณะวิชา มีความสำคัญอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร นำไปใช้กับชีวิตประจำวันอย่างไร ทำไม่จึงต้องเรียน วิธีเรียนควรเรียนอย่างไร ควรอ่านตำราอย่างไร เรียนและสอนอย่างไร ควรเตรียมสอบอย่างไร นักศึกษาควรพัฒนาและเตรียมตนเองอย่างไร
3. แจกเอกสารประกอบการเรียน
4. บอกวิธีการติดต่อกับอาจารย์ ให้ตารางเวลาการทำงาน ที่ทำงาน เบอร์โทรศัพท์และวิธีการติดต่อ
5. ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เกิดความอยากรู้อยากเห็น สนุกที่จะเรียนในวิชาที่อาจารย์สอน
6. ให้กำลังใจผู้เรียน ให้ข้อคิดในเรื่องของความอดทน ความขยัน หมั่นเพียร กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกของความกตัญญูรู้คุณบุพการี และให้พยายามปรับตัวเพื่อความสำเร็จของผู้เรียนเอง
การเริ่มต้นในระยะแรก ๆ ของการสอน ทำให้ผู้เรียนรู้ทิศทางของการเรียนรู้จะได้ปรับตัวให้อยากเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

"ความสุข"ที่น่าตามหา

อาจารย์จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มนุษย์เราเกิดมาทุกคนต่างปรารถนาต้องการพบกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ในความเป็นจริงของมนุษย์เมื่อได้พบกับสิ่งที่ปรารถนาแล้วก็ต้องเตรียมพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาด้วยเช่นกัน ได้แก่ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องพบเจอไม่ช้าก็เร็ว เราควรมีสติปัญญาที่จะเข้าใจว่า โลกธรรมแปด คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ทุกข์ สุข เป็นอนิจจังไม่แน่นอน ได้มาก็ไม่ควรหลงเพลิดเพลิน เมื่อเสียไปก็ให้เข้าใจ ทำใจยอมรับได้ เมื่อเรารู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้แล้ว ชีวิตก็จะได้พบกับความสุขแท้ได้ไม่ยาก ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนสาวกทั้งหลายว่า “ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม การได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความสุขที่แท้ ”หลายๆคนคงอยากรู้แล้วว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร อยู่ที่ใด จะหาได้จากที่ไหน สำหรับชีวิตของผมเองก็ตามหาอยู่เช่นกัน บางครั้งก็รู้สึกว่าเหมือนอยู่ใกล้ๆ ตัวเราแล้ว แต่ทำไมบางครั้งก็รู้สึกว่าเรายังคว้ามาไม่ได้สักที จนได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติธรรม รุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ณ วัดสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25-29 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ทำให้ผมเข้าใจว่าความสุขที่ตามหานั้นจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย แค่เรารู้จักการกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างมีสติ ที่เรียกว่า อานาปานสติ แค่นี้เราก็จะได้พบกับความสุขแท้ ที่ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้นำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาสอนได้อย่างน่าสนใจทำให้ผมเข้าใจชีวิตมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุกข์ (ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ) สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์) ที่มนุษย์ควรศึกษาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในความเป็นจริงของชีวิต เพราะเป้าหมายสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น เพื่อความดับแห่งทุกข์ตามอริยมรรคมีองค์ 8 หรือที่สรุปย่อเป็น “ ไตรสิกขา ” ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเมื่อเรามี ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว อานิสงส์ของศีล คือ ความสุข อานิสงส์ของสมาธิ คือ ความสุขยิ่งขึ้น อานิสงส์ของปัญญา คือ ความสุขสูงสุด
ทีนี้เราคงทราบวิธีที่จะพบกับความสุขแล้วใช่ไหมครับ เริ่มต้นด้วยหยุดทำความชั่วแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ปฏิบัติภาวนาจนเกิดวิปัสสนาปัญญา ซึ่งตรงกับคำสอนที่ว่า “ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง - ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ” จิตที่มีความยึดติด คือ จิตที่เป็นทุกข์ จิตที่ไม่มีความยึดติด คือ จิตที่เป็นอิสระ เป็นสุขอย่างยิ่ง นี้แหละครับ คือ ความสุขสูงสุดแท้ ที่น่าตามหาจริงไหมครับทุกคน

25 มกราคม 2552

สีลวงตา?!

เชื่อหรือไม่? สี่เหลี่ยมเล็กในภาพทั้งซ้ายขวาของแต่ละคู่คือสีเดียวกัน











ส่วนสองภาพต่อไปนี้ สี่เหลี่ยมเล็กห้ารูปชุดซ้ายบนมีสีเดียวกับชุดขวาล่าง และชุดซ้ายล่างมีสีเดียวกับชุดขวาบน

น่าทึ่งใช่มั้ยล่ะ!
นี่ก็ถือเป็นจิตวิทยาเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า Psychology of Color Perception
มีให้ดูอีกที่ source เลยครับ

source: http://www.psy.ritsumei.ac.jp/~akitaoka/shikisai2005.html

เรียนจบจิตวิทยาทำอาชีพอะไรได้บ้าง

เมื่อคนนึกถึงนักจิตวิทยา มักจะคิดถึงนักบำบัดที่เรียนมาสูงๆนั่งอยู่ที่ออฟฟิศหรูหรา หรือคิดถึงนักวิทยาศาสตร์หัวฟูๆในมือถือเข็มอิเล็กโตรดคอยจิ้มสมองเล็กๆหนูทดลองในห้องแล็บ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็จริง แต่เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของสิ่งที่นักจิตวิทยาทำ

นักจิตวิทยาสามารถเข้าไปทำงานได้ในหลากหลายสาขาอาชีพมาก ถึงแม้ว่างานหลักใหญ่ๆจะอยู่ในด้านการบำบัดและการเรียนการศึกษา และส่งที่จะบอกต่อไปนี้คือกลุ่มงานที่คุณๆสามารถเลือกไปทำงานได้หลังจากที่ได้เรียนจิตวิทยา โดยทั่วไปแล้วควรจะจบปริญญาเอกแต่ก็มีบางสายงานที่จบปริญญาโทก็เพียงพอที่จะทำงานได้แล้ว

1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา (Clinician)


กลุ่มนี้มักจะทำงานในโรงพยาบาล ไม่ก็ตามชุมชนต่างๆ หรือไม่ก็ทำเองส่วนตัวโดยใช้เวลาทำงานของตนเองทั้งวันในการอยู่กับผู้ที่รับการบำบัด โดยทั่วไปแล้วงานกลุ่มนี้จะต้องการการศึกษาระดับปริญญาเอกในทั้งสาขาจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการปรึกษา และควรจะได้เรียนเรื่องจิตพยาธิวิทยาและวิธีการรักษาต่างๆมาอย่างดี ในสหรัฐอเมริกาจะมีกลุ่มที่ทำงานแบบนี้ประมาณ 40-45% ของนักจิตวิทยาทั้งหมด

2.กลุ่มนักการศึกษา (Educator)


ในสหรัฐฯ นักจิตวิทยามักจะเริ่มต้นทำงานกับด้านการศึกษาอยู่ประมาณ 40% บางคนก็สอนจิตวิทยา บางคนก็ทำงานวิจัยและให้ดูแลโครงงานวิจัยของนักเรียนนักศึกษา แนะนำการทำวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ของนักศึกษา และบางคนก็ทำวิจัยกันเอง อยู่ในห้องทดลองหรือที่อื่นๆ หลายคนในกลุ่มนี้ก็เหมาเอาหมดทุกงานตามที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ

3.กลุ่มธุรกิจ (Business)


นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การที่ได้รับการฝึกฝน ได้รับการเทรนในแวดวงธุรกิจและการจัดการองค์กร คนกลุ่มนี้จะถูกว่าจ้างโดยองค์กรใหญ่ๆหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ (Ergonomic คือ การทำให้สถานที่ทำงานและเครื่องใช้ไม้สอยให้เหมาะสมกับผู้ที่ทำงาน) งานที่ได้ทำจะขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่เข้าไปทำและความต้องการของบริษัทนั้นๆ แต่ก็ทำอยู่เกี่ยกวับการสัมภาษณ์งาน การจ้างคน การฝึกพนักงาน การเลื่อนขั้นพนักงาน การประเมินการสื่อสารระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มกัน และช่วยเหลือผู้บริหารในการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับลูกจ้างและนโยบายกฏเกณฑ์ต่างของพนักงานแม้ว่าเป็นสาขาเฉพาะที่กำลังเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ทว่าในสหรัฐฯก็มีสัดส่วนแค่ 5% จากนักจิตวิทยาทั้งหมด

4.กลุ่มงานกีฬา (Sports)


นักจิตวิทยาบางคนก็ผสมผสานระหว่างด้านกีฬาที่ตนเองสนใจเข้ากับความรู้ทางด้านพฤติกรรมมนุษย์และแรงจูงใจต่างๆ ผู้ที่ทำงานสายอาชีพนี้มักจะทำงานเพียงกีฬาใดกีฬาหนึ่งไปหรือเจาะจงบางทีมไปเลยเพื่อศึกษาและช่วยให้ทีมพัฒนาได้ดีขึ้น เมื่อทีมอยู่ในสภาวะแรงจูงใจตก มีความกังวล ความกลัว และตอนที่มีเป้าหมายในการแข่งขัน

5.กลุ่มงานเทคโนโลยี (Technology)


เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มงานใหม่ที่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์จากจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เรื่องระหว่างคนกับเครื่องจักร คนกับสิ่งแวดล้อมการทำงาน คนกับเทคโนโลยี เป็นต้น หรือจะพูดอีกอย่างได้ว่า นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะศึกษาว่าเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างไรกับเรา และเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร

6.กลุ่มงานอื่นๆ (Other)

ผู้เขียนไม่สามารถระบุได้หมดว่านักจิตวิทยาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะว่านักจิตวิทยาสามารถทำงานได้หลากหลายมากมาย บางคนก็ทำงานส่วนตัวเป็นพาร์ทไทม์และมีสอนบ้าง บางคนก็ทำการวิจัยในช่วงปิดภาคฤดูร้อนและก็เข้าสอนในช่วงเดือนอื่นๆ บางคนก็เอาความรู้จิตวิทยาไปใช้ในการอาชีพของตนเอง งานใดที่ใช้คนก็ควรจะคิดถึงนักจิตวิทยาเข้าไปด้วย ยังไงก็ตามสิ่งที่นักจิตวิทยาควรจะเก่งๆเอาไว้คือ ศึกษาเกี่ยวกับด้านปัญญาการรู้คิด ศึกษาอารมณ์ และศึกษาพฤติกรรมคนนี่แหละ

ความรู้ท่วมหัว...เอาตัวไม่รอด


ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ในตำนาน



ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิว เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2399 ในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก และเสียชีวิตวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2482 รวมอายุ 83 ปี ครอบครัวมีอาชีพขายขนสัตว์ มีฐานะปานกลาง

ฟรอยด์สนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวียนนาสาขาวิทยาศาสตร์ แล้วเรียนต่อสาขาแพทยศาสตร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อด้านโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต ที่นั่นฟรอยด์ได้ค้นพบว่าความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ร่างกาย หลังจากกลับมาอยู่ที่กรุงเวียนนา ฟรอยด์จึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) กับคนไข้ที่เป็นอัมพาต กล่าวคือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากอัมพาต

เขายังได้ศึกษาวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์ และอธิบายว่า จิตใจทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ มี 3 ลักษณะ คือ
1. จิตรู้สำนึก (Conscious mind) หมายถึง สภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ ได้แก่ การแสดพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง
2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious mind) หมายถึง สภาวะจิตที่ระลึกถึงได้ แต่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรมในขณะนั้น เป็นส่วนที่รู้ตัวสามารถดึงออกมใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
3. จิตใต้สำนึก (Unconscious mind) หมายถึง สภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัวระลึกถึงไม่ได้ เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ แต่มีอิทธิพลจูงใจพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตของคนเรามากที่สุด

เขาอธิบายว่าจิตใต้สำนึกของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ อิด (Id) อีโก้ (Ego) และ ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) โดย อิดจะเป็นพลังอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เช่น รัก โลภ โกรธ หลง หรือเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณดิบของคนเรานั่นเอง ซึ่งหากคนเรามีอิด เพียงอย่างเดียวก็จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ ในขณะที่ ซุปเปอร์อีโก้จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการเรียนรู้ค่านิยมต่างๆ เช่น ความดี ความชั่ว มโนธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นพลังในส่วนดีของจิตมนุษย์ที่จะคอยหักล้างกับพลังอิด ทั้งนี้ในระหว่างความสุดขั้วของอิด และซุปเปอร์อีโก้นั้นจะมี อีโก้อยู่ระหว่างกลางคอยทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนเราแสดงสัญชาตญาณดิบออกมามากเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้คนเราแสดงออกซึ่งมโนธรรมเพียงอย่างเดียวเช่นกัน

###

ทีนี้ลองมาทำแบบทดสอบหลักการจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังของนายซิกมันด์ ฟรอยด์ (ห้ามแอบดูเฉลยก่อนนะ)
ให้คุณลองสมมุติว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในบ้านของคุณพร้อมๆกันแล้วคุณจะเลือกรับมือกับเหตุการณ์ใดก่อน?
1. มีคนโทรมา โทรศัพท์เสียงดัง
2. เด็กทารกร้องไห้จ้าอยู่ในบ้าน
3. มีคนมาหาและเคาะประตูเรียกอยู่หน้าบ้าน
4. ฝนทำท่าจะตก และคุณยังไม่ได้เก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้ข้างนอกเลย
5. คุณลืมปิดก๊อกน้ำในห้องครัวไว้และมันก็เริ่มไหลนองพื้นแล้ว
ลองจัดลำดับเหตุการณ์สำคัญของคุณและทำใส่กระดาษ แล้วมาดูเฉลย



เฉลย
เหตุการณ์แต่ละอย่างแทนสิ่งที่คุณให้ความสำคัญในชีวิต
1. โทรศัพท์ แทน การงาน
2. เด็กทารก แทน ครอบครัว
3. คนที่ประตู แทน เพื่อน
4. เสื้อผ้าที่ตาก แทน เงิน
5. ก๊อกน้ำ แทน เซ็กส์
ไหนใครเลือก ปิดก๊อกน้ำก่อน ยกมือขึ้น !!!


source:

อยากเรียนจิตวิทยา เรียนที่ไหนดี?

รวมลิงค์สถาบันที่เปิดสอนเกี่ยวกับจิตวิทยา พร้อมด้วยลิงค์เว็บไซต์ทางการของสถาบันนั้นๆ และสาขาวิชาจิตวิทยาที่มีให้เลือกเรียน


ระดับปริญญาตรี
1.คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิชา จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
http://www.psy.chula.ac.th

2.คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มี จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
http://www.tu.ac.th/

3.คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ มี จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาชุมชน จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาอุตสาหกรรม
http://psy.soc.ku.ac.th/fsocpsy

4.คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
http://hu.swu.ac.th/psych

5.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการแนะแนว ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
http://edu.swu.ac.th

6.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ศิลปากร
http://www.educ.su.ac.th/program/programI.html

7.คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.เชียงใหม่
http://www.human.cmu.ac.th/~psycho

8.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.บูรพา
http://www.huso.buu.ac.th

9.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการแนะแนวและจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ม.บูรพา มี จิตวิทยาการปรึกษา
http://gep.buu.ac.th/index2.html

10.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.มหาสารคาม
http://www.msu.ac.th

11.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.รามคำแหง มี จิตวิทยาสังคม, จิตวิทยาการบริการปรึกษาและแนะแนว, จิตวิทยาคลินิกและชุมชน, จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ, จิตวิทยาพัฒนาการ
http://www.edu.ru.ac.th/aspfile/study_1.asp

12.คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ทักษิณ
http://www.tsu.ac.th

13.คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.พายัพ มี จิตวิทยาการให้การปรึกษาและแนะแนว จิตวิทยาสังคม
http://psycho.payap.ac.th

14.คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.นเรศวร
http://www.social.nu.ac.th/course.htm

15.วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ศิลปศาสตร สาขาวิชาจิตวิทยา มี จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาองค์การ
http://www.slc.ac.th/home/th/index.php?option=com_content&task=view&id=40&Itemid=42

16.คณะศึกษาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ มี จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว, การประถมศึกษา-จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว
http://eduit.pn.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=169&Itemid=140

17.คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว ม.ราชภัฏธนบุรี
http://dit.dru.ac.th/home/001/index.php

18.คณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์

19.คณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยาและการแนะแนว ม.ราชภัฏนครราชสีมา
http://www.edu.nrru.ac.th/psychology/index.asp

20.คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ม.เกษตรศาสตร์
http://edupsy.edu.ku.ac.th/


ระดับปริญญาโท
1.คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
http://www.psy.chula.ac.th/psy/branch.php

2.Graduate School of Psychology มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มี Counseling Psychology
http://www.grad.au.edu/py_program

3. โครงการปริญญาโทจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ม.ธรรมศาสตร์ มี จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
http://www.tu.ac.th/org/arts/psycho

4. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ มี จิตวิทยาประยุกต์
http://www.slc.ac.th/home/th/index.php?option=com_content&task=view&id=59

5. การศึกษามหาบัณฑิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ มี จิตวิทยาพัฒนาการ
http://hu.swu.ac.th/psych/curriculum/master.htm

6. คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร มี จิตวิทยาชุมชน (Community Psychology), จิตวิทยาการศึกษาพิเศษ (Special Education Psychology)
http://www.educ.su.ac.th/program/programIl.html

7.คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.เชียงใหม่ มี จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ, จิตวิทยาการปรึกษา
http://www.human.cmu.ac.th/~psycho

8. บัณฑิตวิทยาลัย ม.บูรพา มี จิตวิทยาการแนะแนว, พยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
http://graduate.buu.ac.th/course.htm

9. การศึกษามหาบัณฑิต ม.มหาสารคาม มี จิตวิทยาการให้คำปรึกษา
http://www.grad.msu.ac.th

10. หลักสูตรปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง มี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development ), จิตวิทยาครูการศึกษาพิเศษ (Psychology for Special Education Teachers), จิตวิทยาการพัฒนาการ, จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ, จิตวิทยาการให้คำปรึกษา, จิตวิทยาคลินิกและชุมชน
http://www.edu.ru.ac.th/aspfile/study_2.asp

11.คณะศึกษาศาสตร์ ม.นเรศวร มี จิตวิทยาการแนะแนว (Courseling Psychology)
http://www.edu.nu.ac.th/

12. คณะศึกษาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ มี จิตวิทยาการศึกษา
http://eduit.pn.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=170&Itemid=141

13.คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี จิตวิทยาการศึกษา
http://www.cued-research.com

14.คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มี โครงการปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม ภาคพิเศษ
http://indpsy.soc.ku.ac.th/index.html
จิตวิทยาชุมชน http://psy.soc.ku.ac.th/fsocpsy/community.html


ระดับปริญญาเอก
1.คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี จิตวิทยาสังคมและพัฒนาการ จิตวิทยาการปรึกษา
http://www.psy.chula.ac.th/psy/branch.php

2. หลักสูตรปริญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง มี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, จิตวิทยาให้คำปรึกษา, จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
http://www.edu.ru.ac.th/aspfile/study_3.asp

3.คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี จิตวิทยาการศึกษา
http://www.cued-research.com

source: http://www.psychola.com/wordpress

24 มกราคม 2552

จิตวิทยา คืออะไร?

จิตวิทยา (psychology) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ(กระบวนการของจิต), กระบวนความคิด, และพฤติกรรมของมนุย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้(กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์), อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่างๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรมด้วย

วิธีการทดลอง
ผู้สังเกตจะถูกเรียกว่าผู้ทดลองที่จะสร้างสภาวะหรือตัวแปรขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือผลกระทบต่อ ตัวแปรอื่น ๆ อาจเป็นการเปรียบเทียบตัวแปรระหว่างกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้น แล้วรายงานผลการทดลอง หรือผลจากการรวบรวมและตีความหมายของการเปรียบเทียบที่ได้จากการทดลอง วิธีการนี้นิยมกระทำในห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการ เพราะสามารถควบคุมตัวแปรหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ หรือให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งการสังเกตก็ สามารถกระทำได้ง่ายและมีความถูกต้องแม่นยำ
ตัวแปรที่ใช้ในการทดลองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตัวแปรอิสระ ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่ถูกกำหนดขึ้น และ ตัวแปรตาม ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่คาดว่าจะเป็นผลจากการกระทำกับตัวแปรอิสระ
หลังจากได้ทราบผลจากการทดลองแล้ว ผู้ทดลองต้องทำการสรุปแล้วรายงานผลการทดลองให้ผู้อื่นทราบ เพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำผลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ หรือทำการศึกษาต่อยอดความรู้ออกไป

วิธีการหาความสัมพันธ์
วิธีการหาความสัมพันธ์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไป โดยที่ไม่ได้เจาะจงว่าตัวแปรใดมีอิทธิพลเหนือตัวแปรใด วิธีการหาความสัมพันธ์ มีดังต่อไปนี้
1. วิธีวัดทางจิตวิทยา (Psychometric techniques) ใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาและแบบสอบถาม เพื่อวัด ความแตกต่างของลักษณะต่างๆของบุคคล หรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยทั่วไปแบบทดสอบที่ใช้ใน งานวิจัยด้านหาความสัมพันธ์สามารถทดสอบตัวแปรอิสระได้เป็นรายๆไป ดังนั้น วิธีวัดทางจิตวิทยานี้จึงแสดงให้เห็น ความสัมพันธ์ของตัวแปร 2 ตัว ด้วยผลที่ได้จากการทำแบบทดสอบหรือแบบสอบถามนั่นเอง
2. การสังเกตในสภาพธรรมชาติ (Naturalistic Observation) การสังเกตในสภาพธรรมชาติจะให้ข้อ เท็จจริงได้มากกว่า เพราะเป็นการสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต ผู้ถูกสังเกตจะต้องไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต เพื่อให้พฤติกรรม ต่างๆเป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้จริง แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการสังเกตระยะหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาจค่อนข้างยาวนาน
3. การสังเกตด้วยวิธีการทางคลีนิค (Clinical Method of Observation) เป็นการศึกษาประวัติรายบุคคล (กรณีศึกษา) ซึ่งจะช่วยให้นักจิตวิทยาเข้าใจประวัติความเป็นมา พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู รวมไปถึงพื้นฐานของการ เกิดพฤติกรรม เพื่อใช้ประกอบการบำบัดรักษาหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

วิธีการสังเกตดังกล่าวอาจเกิดผิดพลาดด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ผู้ศึกษาจึงต้องมีการวางแผนและได้รับการฝึกฝนอย่างดี โดยเฉพาะการสังเกตวิธีทางคลีนิค ที่ไม่สามารถกระทำซ้ำได้ ทั้งวิธีการทดลองและวิธีการหาความสัมพันธ์ต่างก็มีประโยชน์และความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่หลายๆ ครั้งที่มีการผสมผสานทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน เพื่อการศึกษาที่ละเอียดหลายๆด้าน และเป็นประโยชน์ในทางจิตวิทยามากยิ่งขึ้น

source: http://th.wikipedia.org/wiki/จิตวิทยา