18 ธันวาคม 2552

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

อ.จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือการจัดการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนด้านการเรียนรู้ การจัดการ และการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ยังกำหนดชัดเจนว่า การบูรณาการคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนา ความรับผิดชอบ การทำงานกลุ่ม ความเสียสละ จะทำด้วยวิธีการใด สอดแทรกหรือบูรณาการในแผนการสอนได้อย่างไร
ผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกวิชาเป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากเพื่อจากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วีดีทัศน์ อินเตอร์เน็ต สภาพจำลอง กรณีศึกษา สถานการณ์จริงหรือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยหลักการนี้ ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์มากกว่าการเรียนจากการฟังการ “บรรยาย” ของอาจารย์อย่างเดียว เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

แผนภูมิการเรียนรู้ของผู้เรียน
10 tell
20 show
70 do
I hear, I forget
I see, I remember
I do, I understand

การพยายามหาวิธีการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน จึงต้องอาศัยการวางแผนที่รัดกุม การที่คิดว่าสอนเองจะเร็วกว่าการให้ผู้เรียนพยายามเรียนจากวิธีการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การนั่งฟังอาจารย์สอนเป็นการเสียเวลา และทำให้สอนไม่ทันเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ดังนั้นเวลาที่ใช้ไปในแต่ละคาบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนจะต้องวางแผนใช้อย่างคุ้มค่า มีความหมาย

ตัวอย่างของการใช้เวลาไม่คุ้มค่า เช่น การเช็คชื่อโดยขานชื่อทีละคน ผู้สอนจะต้องคิดวิธีการที่ย่นเวลาการเช็คชื่อ เช่น เช็คชื่อเป็นกลุ่ม ให้หัวหน้าเช็คชื่อให้ ให้ส่งงานช่วง 5 นาทีท้ายชั่วโมง หรือใช้วิธี อื่น ๆ ที่จะประหยัดเวลาได้
การให้งาน แทนที่จะเสียเวลาอธิบาย 50 นาที ให้พิมพ์ขั้นตอนการทำงานมาเลย ใครไม่เข้าใจไปอธิบายกันนอกห้อง
การวางแผ่นใส รอให้นักศึกษาจดทีละแผ่น ผู้สอนควรพิมพ์รายละเอียดแจกท้ายชั่วโมง แทนที่จะรอให้นักศึกษาจด
การรายงาน แทนที่จะให้นักศึกษา 10 กลุ่ม รายงานทีละกลุ่ม หัวข้อเรื่องเดียวกัน ให้แบ่งหัวข้อแตกต่างกัน เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
การติดยึดกับการบรรยาย เกรงนักศึกษาจะไม่รู้เรื่องทั้ง ๆ ที่เรื่องที่บรรยาย มีหัวข้อเหมือนกับเอกสารคำสอนทุกประการ

สรุปการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องมีการวางแผน กำหนดจุดประสงค์ สาระ เวลา วิธีการที่ชัดเจน ว่าจะให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ ความคิด ศักยภาพ ในช่วงใด เวลาใดที่การสอนต้องมีการกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้จากแหล่งการเรียนหลากหลาย มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับผู้เรียน โดยผู้สอนจะต้องเป็นผู้จัดการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยวิธีการ และสื่อต่าง ๆ เปิดโอกาสให้พูด อภิปราย ถกเถียง หาข้อสรุป เรียบเรียง และประมวลความรู้ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี สื่อสารกับผู้อื่นได้ ปรับตัวได้ในสังคมที่แตกต่างกัน

สรุปการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยสรุปมีหลักการดังนี้
1. ผู้เรียนต้องเรียนอย่างกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ด้วยตนเองมากกว่าการนั่งฟังอาจารย์สอน
2. ผู้เรียนควรมีโอกาสเรียนรู้จากแหล่งหลากหลาย เช่น จากสภาพจริง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น จากวีดิทัศน์ โทรทัศน์ บริษัท เพื่อน
3. อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้บอกวิชา (บรรยาย) เป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
4. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา
5. ส่งเสริมการคิดที่ลึกซึ้ง
6. ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
7. อาจารย์ไม่จำเป็นต้องให้รายงานทุกกลุ่ม แต่ให้ส่งงานกลุ่มมาเพื่อเช็คชื่อ อาจารย์ไม่ควรสอนซ้ำกับที่นักศึกษาได้รายงานไปแล้ว ควรเพิ่มเติมประเด็นที่ขาดไป
8. การออกคำสั่งให้ทำงานกลุ่มแต่ละครั้ง มีคำสั่งให้ชัดเจน ใช้เวลาเท่าใด พิจารณาอะไร ตอบอย่างไร ส่งงานอย่างไร รายงานอย่างไร คำสั่งอาจารย์ควรเตรียมใส่แผ่นใส หรือพิมพ์แจก ทำให้ไม่เสียเวลากับการอธิบายคำสั่ง
9. ติดตามการเรียนของผู้เรียน ใครขาดเรียนบ่อย ๆ ใครที่พื้นฐานอ่อน คะแนนสอบย่อยดีขึ้นหรือไม่การเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วนำมาเรียบเรียงเป็นรายงาน ถือเป็นงานวิจัยในชั้นเรียน

การวางแผนการสอน

อ.จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

วงจรการเรียนการสอน
วงจรการเรียนการสอน (OLE) คือ ผู้สอนต้องมองเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างความมุ่งหมายของการสอน (Objective) กระบวนการเรียนการสอน (Learning – teaching process) และการประเมินผล (Evaluation)
ผู้สอนควรมองภาพวงจรนี้ให้สัมพันธ์ใกล้ชิด กล่าวคือ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอนอย่างชัดเจนว่า สอนใคร สอนทำไม สอนอะไร จุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยคืออะไร ของคณะคืออะไร ภาควิชาคืออะไร วิชาที่สอนคืออะไรบ้าง หลังจากที่กำหนดจุดมุ่งหมายหลักผู้สอนก็จะคิดวางแผนเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนว่ามีขั้นตอนอย่างไร มีลักษณะอย่างไร ควรใช้วิธีการสอนแบบใด สอนเมื่อใด สอนอย่างไร ใช้สื่ออะไร
เมื่อคิดวิธีการสอน กิจกรรมในการสอน และเอกสารประกอบการสอน จะต้องมีเครื่องมือมาช่วยประเมินเพื่อให้ผู้สอนได้เข้ามากขึ้นว่า แบบฝึกช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนมากน้อยเพียงใด ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนหรือไม่ อาจารย์พูดอยู่คนเดียวทั้งชั่วโมงหรือเปล่า อาจารย์ควรประเมินตนเอง และประเมินนักศึกษาทุกครั้งเมื่อสอนเสร็จ
ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์ การเรียนการสอน และการประเมินผล ย่อมทำให้ผู้สอนได้ติดตามอยู่ตลอดเวลาว่า การสอนของอาจารย์ได้ผลหรือไม่ ดังนั้นทั้งสามปัจจัยนี้จึงเป็นหลักของการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจหลักการเดียวกันนี้ ผู้สอนจึงควรทำประมวลการสอนโดยสังเขป ก่อนที่อาจารย์จะทำประมวลการสอนรายวิชาใด อาจารย์ควรรู้จักเอกสารหลักสูตร โครงสร้างการศึกษา หลักสูตรสาขาวิชาบังคับกี่หน่วยกิต เรียนวิชาอะไรบ้าง ลักษณะวิชาเป็นอย่างไร
หัวข้อสำหรับการจัดทำประมวลสังเขปรายวิชา ควรมีดังนี้คือ
1. รหัสวิชา และชื่อวิชา
2. สังกัดของรายวิชา และสถานภาพของวิชา
3. ชื่ออาจารย์ผู้สอน
4. คำอธิบายรายวิชา
5. กำหนดการเปิดเรียน
6. ให้ระบุวัตถุประสงค์ของวิชา

เมื่อเขียนการสอนรายสัปดาห์ อาจารย์อาจจะระบุจุดประสงค์ของการสอนเชิงพฤติกรรมแต่ละคาบอีกก็จะทำให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
1. อธิบายความ
2. ระบุความ
3. อภิปราย
4. แสดงตัวอย่าง
สิ่งสำคัญในการกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมก็คือ ต้องมีความสัมพันธ์ ระหว่างจุดประสงค์ วิธีการเรียนรู้ของนักศึกษา และการประเมินผล
7. สาระการสอน อาจารย์จะจำแนกสาระจากคำอธิบายรายวิชาออกมาเป็นหัวข้อ ยกตัวอย่างเช่น วิชา 301 302 หลักการตลาด มีสาระการสอนดังนี้
1. ความหมายของการตลาด
2. ความสำคัญของการตลาดต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ
3. ตลาดและส่วนของการตลาด
4. สินค้าและชนิดของสินค้า
5. หน้าที่ของการตลาด
6. สถาบันการตลาด
7. ของทางการจำหน่ายและคนกลาง
8. วิธีดำเนินงานของผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก
9. สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการตลาด
สำหรับการสอนอาจารย์อาจจะกำหนดวันเวลา หรือครั้งที่สอนไว้พร้อมกำหนด ตำรากับหนังสือที่ควรอ่านว่า หัวข้อนี้อ่านหนังสืออะไร เริ่มจากหน้าใดถึงหน้าใด จะทำให้ผู้เรียนติดตามการสอนของอาจารย์ได้มากขึ้น
8. กิจกรรมการสอน และวิธีการสอน
9. อุปกรณ์การสอน
10. การประเมินผล
11. ตำราเรียนหลัก อาจารย์สอนใช้ตำราเล่มใดเป็นตำราหลัก และเล่มใดเป็นหนังสืออ่านประกอบ กรณีที่ยังไม่มีตำราหลัก อาจารย์ควรพยายามเรียบเรียงและประมวลเป็นเอกสารประกอบการสอน
นอกจากประมวลการสอนโดยสังเขป เพื่อแจกให้นักศึกษาทราบในวันแรกของชั้นเรียนแล้วอาจารย์ควรทำแผนการสอนของอาจารย์ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ๆ ไป เพื่อให้ทราบว่า อาจารย์จะสอนเนื้อหาสาระใด เท่าที่สอบถามนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท พบว่าผู้เรียนมีความพอใดที่ทราบสาระของการเรียน วิธีการเรียน การวัดผล และตำราที่ควรอ่าน ตั้งแต่ชั่วโมงแรก มากกว่าที่จะเข้ามานั่งเรียนโดยไม่ทราบทิศทางอะไรเลย

การวางแผนการสอนรายคาบ
อาจารย์ควรเตรียมแผนการสอนรายสัปดาห์ โดยมีแนวทางดังนี้
1. วางวัตถุประสงค์ของการสอนให้ชัดเจน คำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก ควรเรียนรู้หลากหลายนอกเหนือจากสาระตามหลักสูตร บางส่วนของชั่วโมงอาจเป็นการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ ทำแบบฝึกหัด ปฏิบัติ อภิปรายกลุ่ม ค้นคว้าในห้องสมุด ศึกษาจากสถานประกอบการ
2. คัดสรรสาระการสอน วางลำดับหัวข้อ ให้น้ำหนักของหัวข้อย่อยว่าแต่ละข้อมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันหรือไม่
3. เลือกวิธีการสอนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หัวข้อที่เป็นหลักการอาจารย์ใช้วิธีการสอนแบบบรรยาย แต่การทดสอบว่าผู้เรียนเข้าใจสาระที่สอนไปหรือไม่อาจจะใช้วิธีการอภิปรายให้ผู้เรียนขยายความหรือวิเคราะห์กรณี
4. การเลือกสื่ออาจารย์อาจให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนโดยช่วยหาสื่อ เช่น ภาพยนตร์ รูปภาพ เพลง วีดิทัศน์ ของจริง
5. การประเมินทำได้หลายวิธี การตอบคำถามสั้น ๆ การสังเกต การตรวจสมุดจดของผู้เรียน การทำรายงาน ผลงาน แบบฝึก การให้เขียนสรุป การปฏิบัติ
6. เขียนแผนการสอน และกำหนดเวลาที่สอนแต่ละหัวข้อให้ชัดเจน

ผู้สอนอาจจะกำหนดรูปแบบของแผนการสอนแต่ละคาบขึ้นเองตามความสะดวก แต่ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสอน สาระการสอน กิจกรรมการสอน สื่อการสอน และการประเมินผลทุกครั้ง การกำหนดสาระให้ละเอียดจะทำให้ผู้สอนแม่นในสาระที่สอน และนำไปพัฒนาเป็นเอกสารประกอบการสอนเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบกับนักศึกษาเป็นครั้งแรกในวิชาที่สอน
อาจารย์ควรพยายามให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกว่าอาจารย์มีสัมพันธภาพที่ดีต่อนักศึกษา โดยเฉพาะถ้าเป็นชั้นเรียนขนาดไม่เกิน 50 คน ควรได้มีการแนะนำตัว เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเองเกิดขึ้นบ้าง
วันแรกของชั้นเรียน ควรจะปฏิบัติดังนี้
1. แจกประมวลการสอนรายวิชา
2. อธิบายลักษณะวิชา มีความสำคัญอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร นำไปใช้กับชีวิตประจำวันอย่างไร ทำไม่จึงต้องเรียน วิธีเรียนควรเรียนอย่างไร ควรอ่านตำราอย่างไร เรียนและสอนอย่างไร ควรเตรียมสอบอย่างไร นักศึกษาควรพัฒนาและเตรียมตนเองอย่างไร
3. แจกเอกสารประกอบการเรียน
4. บอกวิธีการติดต่อกับอาจารย์ ให้ตารางเวลาการทำงาน ที่ทำงาน เบอร์โทรศัพท์และวิธีการติดต่อ
5. ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เกิดความอยากรู้อยากเห็น สนุกที่จะเรียนในวิชาที่อาจารย์สอน
6. ให้กำลังใจผู้เรียน ให้ข้อคิดในเรื่องของความอดทน ความขยัน หมั่นเพียร กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกของความกตัญญูรู้คุณบุพการี และให้พยายามปรับตัวเพื่อความสำเร็จของผู้เรียนเอง
การเริ่มต้นในระยะแรก ๆ ของการสอน ทำให้ผู้เรียนรู้ทิศทางของการเรียนรู้จะได้ปรับตัวให้อยากเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

"ความสุข"ที่น่าตามหา

อาจารย์จีรวุฒ ล้วนกลิ่นหอม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มนุษย์เราเกิดมาทุกคนต่างปรารถนาต้องการพบกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ในความเป็นจริงของมนุษย์เมื่อได้พบกับสิ่งที่ปรารถนาแล้วก็ต้องเตรียมพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาด้วยเช่นกัน ได้แก่ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องพบเจอไม่ช้าก็เร็ว เราควรมีสติปัญญาที่จะเข้าใจว่า โลกธรรมแปด คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ทุกข์ สุข เป็นอนิจจังไม่แน่นอน ได้มาก็ไม่ควรหลงเพลิดเพลิน เมื่อเสียไปก็ให้เข้าใจ ทำใจยอมรับได้ เมื่อเรารู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้แล้ว ชีวิตก็จะได้พบกับความสุขแท้ได้ไม่ยาก ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนสาวกทั้งหลายว่า “ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม การได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความสุขที่แท้ ”หลายๆคนคงอยากรู้แล้วว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร อยู่ที่ใด จะหาได้จากที่ไหน สำหรับชีวิตของผมเองก็ตามหาอยู่เช่นกัน บางครั้งก็รู้สึกว่าเหมือนอยู่ใกล้ๆ ตัวเราแล้ว แต่ทำไมบางครั้งก็รู้สึกว่าเรายังคว้ามาไม่ได้สักที จนได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติธรรม รุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ณ วัดสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25-29 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ทำให้ผมเข้าใจว่าความสุขที่ตามหานั้นจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย แค่เรารู้จักการกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างมีสติ ที่เรียกว่า อานาปานสติ แค่นี้เราก็จะได้พบกับความสุขแท้ ที่ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้นำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาสอนได้อย่างน่าสนใจทำให้ผมเข้าใจชีวิตมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุกข์ (ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ) สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์) ที่มนุษย์ควรศึกษาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในความเป็นจริงของชีวิต เพราะเป้าหมายสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น เพื่อความดับแห่งทุกข์ตามอริยมรรคมีองค์ 8 หรือที่สรุปย่อเป็น “ ไตรสิกขา ” ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเมื่อเรามี ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว อานิสงส์ของศีล คือ ความสุข อานิสงส์ของสมาธิ คือ ความสุขยิ่งขึ้น อานิสงส์ของปัญญา คือ ความสุขสูงสุด
ทีนี้เราคงทราบวิธีที่จะพบกับความสุขแล้วใช่ไหมครับ เริ่มต้นด้วยหยุดทำความชั่วแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ปฏิบัติภาวนาจนเกิดวิปัสสนาปัญญา ซึ่งตรงกับคำสอนที่ว่า “ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง - ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ” จิตที่มีความยึดติด คือ จิตที่เป็นทุกข์ จิตที่ไม่มีความยึดติด คือ จิตที่เป็นอิสระ เป็นสุขอย่างยิ่ง นี้แหละครับ คือ ความสุขสูงสุดแท้ ที่น่าตามหาจริงไหมครับทุกคน